ขนมเบื้อง


ขนมเบื้องไทยโบราณ ไส้หวาน ขนมเบื้องไทยโบราณที่ปัจจุบันพบเห็นได้ไม่มากนัก ซึ่งต่างกับขนมเบื้องไทยในปัจจุบันที่เห็นได้ชัด คือ ตัวน้ำตาลที่ทาบนตัวแป้ง เป็นไข่ขาวที่ผสมน้ำตาลมะพร้าว ไม่ได้ตีให้ฟู ตัวแป้งมีความหอมของแป้งข้าวเจ้ากับแป้งถั่วเขียวที่โม่ละเอียด ใส่เครื่องด้วยมะพร้าวขูดขาว ฝอยทอง หรือไข่แมงดา ฟักเชื่อม ลูกพลับแห้ง โรยด้วยน้ำตาลทรายและงาขาว

ตัวแป้ง 
1. แป้งข้าวเจ้า 1 1/2 ถ้วย
2. แป้งถั่วเขียว 1/2 ถ้วย
3. น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ
4. ไข่ไก่ (ใช้ไข่แดงผสมน้ำคนให้เข้ากัน) 1 ฟอง
5. น้ำ 1/2 ถ้วย
6. น้ำปูนใส 1/2 ถ้วย

ตัวน้ำตาล 
7. น้ำตาลปีบ 1/2 ถ้วย
8. ไข่เป็ด (ใช้แต่ไข่ขาว) 1 ฟอง

หน้าหวาน 
9. มะพร้าวทึนทึก (ขูดบางสั้นๆ) 1 ถ้วย
10. ฝอยทอง 1/2 ถ้วย
11. ลูกพลับแห้ง (หั่นบาง) 1 ลูก
12. ฟักเชื่อม (หั่นแผ่นบาง) 1-2 ชิ้น
13. น้ำตาลทราย 1/4 ถ้วย
14. งาขาว (คั่ว-บุบพอแตก) 1/4 ถ้วย

1. แป้งขนมเบื้อง - อ่างใส่ของแห้ง (แป้งข้าวจ้าว แป้งถั่ว น้ำตาลทราย) คลุกให้เข้ากัน ใส่ไข่แดงที่ผสมน้ำไว้ เทสลับกับ น้ำปูนใส ทีละน้อย นวดพอให้แป้งจับตัวเป็นก้อน นวดให้จนนุ่มมือ ดูแป้งขึ้นเงา (นวดประมาณ 5 นาที) คลายแป้งด้วย น้ำปูนใส น้ำที่ผสมไข่ (ที่เหลือจนหมด) นวดคลายอย่าให้แป้งเป็นเม็ด ปิดฝาหมักไว้ 1 ชั่วโมง
2. ตัวน้ำตาล – ชามใส่ไข่ขาว น้ำตาลปีบ ใช้ช้อนคนตีให้เข้ากัน
3. ทำขนมและใส่หน้า – ตั้งกะทะขนมเบื้องหรือกระทะทองแบนใช้ไฟอ่อน เอาที่ละเลงขนมเบื้องจุ่มแป้ง ละเลงในกระทะเป็นวงกลม รอแป้งสุก (แป้งเริ่มแห้ง) ทาด้วยน้ำตาลปีบที่ผสมไข่ขาว (ละเลง) ให้สุกจะแห้งเปลี่ยนเป็นสีขาวฟูขึ้น ใส่ไส้ตามต้องการ ถ้าเป็นหน้าหวานให้ใส่ตามลำดับ มะพร้าวทึนทึกขูด ฝอยทองหรือไข่แมงดา ฟักเชื่อม ลูกพลับแห้ง น้ำตาลทราย งา ดูขอบแป้งเริ่มเปลี่ยนสี ใช้เกรียงแซะขอบแล้วพับครึ่ง ตักพักบนตะแกรงให้เย็นตัว (ถ้าใส่ภาชนะขณะร้อน ไอน้ำจะออกทำให้แป้งนิ่มได้)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น